#โควิด19ในเด็ก ฉีดวัคซีนดี ? หรือ ไม่ฉีดดี ? คำถามในใจของคุณพ่อคุณแม่ทุกคน
จะเปิดเทอมได้ไหม เหนื่อยเรียนออนไลน์ของลูกเหลือเกิน ไปโรงเรียนแล้วลูกจะปลอดภัยห่างไกลโควิด19ไหม หรือต้องรับวัคซีนก่อนไปโรงเรียน ยี่ห้อไหนถึงจะปลอดภัย #ไฟเซอร์ดีไหม หรือ #ชิโนฟาร์ม ดี ?? ในปัจจุบันพบว่ามีการติดเชื้อโควิด19ในเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี ในสัดส่วนที่สูงขึ้น แต่โชคดีที่ผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อ อัตราการเสียชีวิตส่วนใหญ่จะพบในเด็กติดเชื้อโควิด19 ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญทำให้โรครุนแรงและเสียชีวิต ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ให้คำแนะนำออกมาดังนี้
1) แนะนำให้เด็กและวัยรุ่นฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดที่ได้รับการรับรอง ขึ้นทะเบียนกับองค์การ อาหารและยาแห่งประเทศไทยให้ใช้ในเด็กและวัยรุ่น โดยให้ตรงตามอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ และวัคซีน ได้ผ่านการพิจารณาด้านความปลอดภัยและ ประสิทธิภาพจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งในขณะนี้ (ณ วันที่ 7 กันยายน 2564) มีวัคซีนโควิด-19 เพียงชนิดเดียวคือ วัคซีนชนิด mRNA ของ Pizer-BioNTech หรือ ไฟเซอร์ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ให้ใช้ในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่12 ปีขึ้นไป
2) แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 16 ปีจนถึงน้อยกว่า 18 ปี ทุกราย หากไม่มีข้อห้ามในการฉีด ทั้งเด็กที่ปรกติแข็งแรงดีและที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค โควิด19 ที่รุนแรงอาจถึงแก่เสียชีวิต เพราะเป็นกลุ่มอายุที่กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีการดำเนินชีวิตใกล้เคียงกับผู้ใหญ่และมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโรคโควิด19 ในเด็ก และวัยรุ่นมากเพียงพอ
3) สำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปจนถึงน้อยกว่า 16 ปี แนะนำให้ฉีดวัคซีนในกรณีเป็นผู้ป่วยเด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคโควิด19 ที่รุนแรง ดังต่อไปนี้ (ซึ่งตอนนี้ในขั้นต้นระบบบริหารจัดการวัคซีนให้มีใบรับรองแพทย์เพื่อระบุความจำเป็นของผู้ป่วยเด็กที่มีกลุ่มโรคเสี่ยง) ภาวะอ้วน (ดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือมีน้ำหนัก 70 กิโลกรัม ขึ้นไปในเด็กอายุ 12-13 ปี น้ำหนัก 80 กิโลกรัมขึ้นไปในเด็กอายุ 13-15 ปี น้ำหนัก 90 กิโลกรัมขึ้นไปในเด็กอายุ 15-18 ปี หรือเด็กอ้วนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะทางเดินหายใจ อุดกั้น) โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งโรคหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง หรือต้องพ่นยาสม่ำเสมอ โรคหัวใจและหลอดเลือดหรือโรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เบาหวาน โรคทางพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า
อย่างไรก็ตาม ภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงของวัคซีนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่คุณพ่อคุณแม่กังวล วันนี้หมอหนึ่ง รศ. ดร. นพ. ศักดา อาจองค์ วัลลิภากร มีข้อมูลมาฝากค่ะ
เรื่องภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocardiitis) ที่สัมพันธ์กับการรับวัคซีนโควิดชนิด mRNA หรือไฟเซอร์ในเด็ก จากรายงานการศึกษาผลการฉีดวัคซีนโควิดชนิด mRNA หรือ #pfizer ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งในปัจจุบันมีเพียง mRNA ยี่ห้อ pfizer เท่านั้นที่มีผลรายงานการศึกษาวิจัยในเด็กอายุช่วง 12-17 ปี โดยพบว่าหากฉีดวัคซีน Pfizer หนึ่งล้านเข็ม จะพบภาวะข้างเคียงการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่เกิดตามหลังการได้รับวัคซีนโควิดในเด็กเพียง 32 ราย คิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 3 ใน 1 แสนราย ตัวเลขใกล้เคียงกับรายงานผลข้างเคียงของการเกิดภาวะหลอดเลือดดำอุดตันร่วมกับภาวะเกร็ดเลือดต่ำ ( Vaccine-Induced immune Thrombotic Thrombocytopenia; VIIT) ของวัคซีน viral vector หรือ #astrazeneca ในผู้ใหญ่ที่มี่ความกังวลมาก่อนหน้านี้เช่นเดียวกัน
ตามรายงานการศึกษาพบว่าการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่พบในเด็กที่มีอาการข้างเคียงส่วนใหญ่มีอาการเพียงเล็กน้อย และเกือบทั้งหมดหายเป็นปกติในระยะเวลาราวหนึ่งสัปดาห์ และยังไม่พบว่ามีการรายงานการเสียชีวิตจากภาวะดังกล่าวแต่อย่างใด และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับในกรณีไม่ได้ฉีดวัคซีนแล้วมีการติดเชื้อโควิด19 ในเด็กจำนวนเท่ากันหนึ่งล้านคน พบว่าการติดเชื้อสามารถทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อโควิดที่ไม่รุนแรงได้ 20,000 คน หรือเป็นสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 2 ในขณะที่การติดเชื้อโควิด19 ในเด็กมีอาการรุนแรงประมาณราว 50,000 คน หรือร้อยละ 5 และจะมีภาวะ Multisystem Inflammatory Syndrome (MIS) หรือการอักเสบทั่วร่างกายจากการติดเชื้อโควิดราว 200 ราย ซึ่งต้องเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต (ICU) จำนวน 148 รายและเสียชีวิตถึง 4 ราย
เมื่อเปรียบเทียบกันดูเสมือนว่าการให้วัคซีนชนิด mRNA หรือ Pfizer ในเด็ก นอกเหนือจะมีประโยขน์เด่นชัดในแง่ของการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด19 แล้ว ยังมีผลข้างเคียงของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการฉีดวัคซีนน้อยกว่าผลแทรกซ้อนจากการติดเชื้อโควิด19 ที่อาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบสูงถึง 600 เท่า อย่างไรก็ตามการพิจารณาที่จะให้บุตรหลานรับหรือไม่รับวัคซีนนั้น คงต้องอาศัยหลักฐานเชิงประจักษ์และดุลยพินิจความเสี่ยงของเด็กเองรวมถึงการตัดสินใจของผู้ปกครองประกอบกัน
ด้วยความปรารถนาดีจากสหอันดาวิน #คลินิกเพื่อสุขภาพแม่และเด็กโดยเฉพาะ
บทความโดย รศ.ดร.นพ.ศักดา อาจองค์ วัลลิภากร (หมอหนึ่ง co-founder Andawin Clinic)
หมอหนึ่ง #andawinclinic #วัคซีนโควิดในเด็ก #วัคซีนป้องกันโควิดในเด็ก #เปิดเทอมเมื่อไหร่ #วัคซีนตัวไหนดี #ไฟเซอร์ #ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในเด็ก #กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีนโควิด