เทศกาลกินเจกำลังจะมาถึงแล้วนะคะ ว่าที่คุณแม่หลายคนก็คงจะมีความสงสัยว่าจะร่วมเทศกาลบุญประจำปีกับคนอื่นๆได้มั๊ย
ถ้าพูดกันตามความเป็นจริง การรับประทานเจอาจจะไม่เหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์มากนัก เพราะทารกในครรภ์มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน และหลากหลายในปริมาณที่เพียงพอ
โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ นม ไข่ เพื่อที่ร่างกายทารกจะสามารถสร้างเซลล์และอวัยวะต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเซลล์ระบบประสาทและสมองที่จะเกี่ยวเนื่องไปถึงความฉลาดและพัฒนาการของลูกน้อยในอนาคต
ดังนั้นคุณแม่อาจเลี่ยงจากการรับประทานเจ มารับประทานเป็นมังสวิรัติแทนเนื่องจากสามารถรับประทานนม เนย และไข่ได้
ถึงแม้ว่าการรับประทานเจจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ ไม่กี่วัน หากเป็นไปได้หมอก็ไม่แนะนำให้แม่ตั้งครรภ์รับประทานเจค่ะ
นอกจากเรื่องสารอาหารที่ไม่เพียงพอแล้ว ยังมีปัญหาอื่นๆที่พบได้อีกนะคะ เช่น
• ความมันของอาหารเจจากการผัดด้วยน้ำมันปริมาณมาก อาจกระตุ้นให้คลื่นไส้ อาเจียนได้มาก และทำให้อาการแพ้ท้องรุนแรงขึ้นได้ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
• อาหารเจซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยแป้ง เช่นเส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ซั่ว ขนมปัง จะทำให้ ได้รับคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงกับการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้
• คนท้องจะมีระบบการเผาผลาญพลังงานและส่งผ่านสารอาหารไปที่ทารกตลอดเวลา ดังนั้นร่างกายจะรู้สึกหิวมากกว่าปกติ เมื่อรับประทานเจซึ่งไม่มีเนื้อสัตว์ที่ให้พลังงานมากพอ หรือไม่อยู่ท้องก็จะยิ่งหิวมากกว่าปกติขึ้นมาอีกหลายเท่าค่ะ
เฮ้อ..คุณหมอคะ ฟังดูแล้วหมดกำลังใจ แล้วถ้าคุณแม่อยากร่วมรับประทานเจจริงๆล่ะคะ จะให้ทำยังไงดี
ไม่ต้องกังวลไปค่ะ สำหรับคุณแม่ที่มีความจำเป็นจะต้องรับประทานเจ วันนี้หมอมีวิธีรับประทานเจที่ถูกต้องสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มาฝากค่ะ
1. อันดับแรกเลย ต้องเลือกอาหารให้ถูกต้อง ดังนี้
• ผักต่างๆ แน่นอนค่ะว่าการรับประทานเจ ต้องเน้นผัก ไม่มีเนื้อสัตว์ แต่คุณแม่ควรเลือกเน้นเมนูจากผักใบเขียว เช่น บล็อคโคลี ผักบุ้ง ผักคะน้า ซึ่งจะได้รับโฟลิค ซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญที่สุดสำหรับการสร้างเซลล์ทารกโดยเฉพาะเซลล์ระบบประสาทและสมองค่ะ นอกจากนั้นแล้ว ยังได้รับธาตุเหล็กที่เป็นส่วนประกอบของการสร้างเม็ดเลือดแดงเพื่อการนำพาออกซิเจนไปที่เซลล์ต่างๆในร่างกายให้เกิดการเจริญเติบโตให้เต็มประสิทธิภาพ
• ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ หรือ ธัญพืชต่างๆ เพื่อการได้รับสารอาหารโปรตีนแทนเนื้อสัตว์ นอกจากถั่วเหลืองและธัญพืช เรายังพบโปรตีนได้จาก งาดำ เห็ด สาหร่ายบางชนิดค่ะ
• ผลไม้ดีๆ สารอาหารหลากหลายก็ช่วยให้คุณแม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นสำหรับคนท้องนะคะ เช่น แคนตาลูป มะละกอสุก กล้วย และ ส้มจะมีโฟลิคปริมาณสูงมากกว่าผลไม้ชนิดอื่นค่ะ
2. ดื่มนมถั่วเหลืองทดแทนนมวัวมากกว่าปริมาณที่ควรดื่มในแต่ละวัน เนื่องจากแคลเซียมที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับจะมีปริมาณ 1000-1200 mg ต่อวัน คุณแม่ควรเสริมแคลเซียมเม็ด1000 มก.ต่อวัน และรับประทานนมถั่วเหลืองอีก 500-800 ซีซีต่อวัน หรืออาจจะช่วยเสริมแคลเซียมจากงาดำ ร่วมด้วยค่ะ
3. ถ้าเป็นไปได้ ควรปรุงอาหารเจรับประทานเองที่บ้าน โดยเลือกผักที่สด สะอาด ปลอดภัย ล้างผักให้สะอาดก่อนปรุงอาหาร โปรตีนเกษตรที่นำมาทำอาหารควรให้แน่ใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ไม่ใช่แป้ง ใช้น้ำมันในการปรุงอาหารให้น้อย
นอกจากการรับประทานเจตามหลักการดังกล่าวแล้ว
คุณแม่ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
พักผ่อนให้มากขึ้นเพื่อลดความเครียดและส่งผ่านสารอาหารไปให้ลูกได้เต็มที่นะคะ
ควรไปฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ หากมีภาวะทารกขาดสารอาหาร ต้องหยุดรับประทานเจทันทีค่ะ
หมอเอาใจช่วยคุณแม่ทุกท่านที่อยากรับประทานเจในช่วงเทศการนะคะ
หรือถ้าปีนี้คุณแม่คิดว่ายากไปที่จะสรรหาอาหารเจคุณภาพให้ลูกน้อยในครรภ์ แถมต้องมานั่งทำอาหารเองเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด งั้นปีนี้คุณแม่ก็งดเจกันปีนึง แต่เราก็ร่วมเทศการนี้ด้วยการหมั่นทำบุญทำทาน คิดดี พูดดี ทำดี ตลอดเวลา ตลอดช่วงการตั้งครรภ์เลย ก็จะทำให้ได้บุญ อิ่มบุญทั้งแม่อิ่มท้องไปถึงลูกด้วยค่ะ
#หมอเคยเขียนบทความนี้ในเวบเพจชีวีดอทคอม3ปีก่อนไม่ต้องแปลกใจไม่ได้ลอกใครมาตัวจริงเขียนเองไม่ดราม่านะคะ
#กินเจ #คนท้องกินเจ #กินเจกันมั๊ย #ท้องปลอดภัย #ท้องอยากกินเจ #ตั้งครรภ์ #กินเจในคนตั้งครรภ์