ปวดประจำเดือนแบบไหนควรพบแพทย์ ???

 27 Mar 2022  เปิดอ่าน 8940 ครั้ง



อาการปวดท้องประจำเดือน (dysmenorrhea) หมายถึง อาการปวดท้องน้อยที่สัมพันธ์กับช่วงที่มีประจำเดือน อาการปวดจะมีลักษณะบีบๆ อาจทุเลาบ้างบางช่วงเวลาแล้วปวดใหม่ (fluctuating intensity) อาจมีอาการปวดร้าวไปหลัง หน้าขาร่วมด้วย ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพในการเรียนและการทำงาน ซึ่งถือเป็นปัญหาทางนรีเวชกรรมที่พบได้บ่อยที่สุดในเรื่องเกี่ยวกับประจำเดือนในสตรีที่มาพบแพทย์

โดยอาการปวดท้องประจำเดือนสามารถแยกได้เป็น 2 รูปแบบดังนี้


1.ปวดท้องประจำเดือนแบบปฐมภูมิ (Primary dysmenorrhea) ซึ่งเป็นการปวดท้องประเดือนที่ไม่มีสาเหตุหรือไม่มีรอยโรคซ่อนอยู่ มักพบในช่วงวัยรุ่นเมื่อสตรีเริ่มมีประจำเดือนใหม่ๆ ในช่วง 2 ปีแรกหลังเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก (Menarche) โดยอาการปวดท้องประจำเดือนดังกล่าวจะค่อยๆลดลง เมื่อระยะเวลาผ่านไป หรือเข้าสู่วัยกลางคนหรืออายุเพิ่มมากขึ้น

อาการปวดจะมีลักษณะบีบๆ (cramping) ที่บริเวณท้องน้อย อาจมีปวดร้าวไปหลัง หน้าขา โดยอาการจะเริ่มปวดพร้อมๆกับการมาของประจำเดือน และอาการจะรุนแรงมากที่สุดในช่วง 24-36 ชั่วโมงหลังการเริ่มต้นของประจำเดือนในรอบนั้น ช่วงระยะเวลาที่มีอาการมักไม่เกิน 72 ชั่วโมง ในบางรายอาจมีอาการร่วม ได้แก่ เหงื่อแตก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด หรือท้องเสียร่วมด้วยได้

การตรวจร่างกายและการตรวจภายใน จะพบมดลูกขนาดปกติ ไม่มีพังผืดมาดึงรั้งมดลูก ไม่มีอาการเจ็บบริเวณมดลูก ไม่พบตกขาวผิดปกติ ไม่มีก้อนบริเวณปีกมดลูก อย่างไรก็ตามเนื่องจากอาการปวดท้องประจำเดือนมักเป็นปัญหาของในสตรีวัยรุ่น การตรวจภายในอาจไม่จำเป็นต้องทำในทุกราย และสามารถให้การรักษาที่ครอบคลุมเพื่อเป็นวินิจฉัยพร้อมการรักษาได้ (empirical treatment) ได้แก่ การให้ยาต้านการอักเสบหรือยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมรูปแบบรับประทาน หากอาการปวดท้องประจำเดือนดังกล่าวไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้น แนะนำให้ตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุการปวดท้องประจำเดือนแบบทุติยภูมิทันที ด้วยการตรวจภายใน การตรวจ อัลตราซาวน์ทั้งบริเวณอุ้งเชิงกรานทางช่องคลอด หรือการตรวจอัลตราซาวน์ผ่านทางหน้าท้อง

2.ปวดท้องประจำเดือนแบบทุติยภูมิ (Secondary dysmenorrhea) หมายถึง การปวดท้องประจำเดือนที่มีรอยโรคซ่อนอยู่ ได้แก่ ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis)  ซึ่งเป็นรอยโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในสตรีที่มีอาการปวดท้องประจำเดือน ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบติดเชื้อ (pelvic inflammatory disease) เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก (leiomyoma uteri) และผังพืดในอุ้งเชิงกราน (pelvic adhesion) เป็นต้น


การดูแลรักษาภาวะปวดท้องประจำเดือนแบบปฐมภูมิ

การรักษาอาการปวดท้องประจำเดือนแบบปฐมภูมิ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดการหลั่งของ prostaglandins ลดการบีบรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก และลดการกระตุ้นปลายประสาทรับการเจ็บปวดโดยตรง อย่างไรก็ตามการตัดสินใจเลือกการรักษาขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของคนไข้ การตอบสนองของคนไข้แต่ละราย และความถนัดของแพทย์ผู้รักษา ซึ่งต้องอาศัยการตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วย โดยมีทางเลือกการรักษาดังนี้

1.การรักษาโดยการใช้ยากลุ่มฮอร์โมน ซึ่งมีกลไกลดอาการปวดประจำเดือนจากการยับยั้งการตกไข่ ลดการแบ่งตัวและเจริญเติบโตของเยื่อบุโพรงมดลูก ส่งผลยับยั้งการหลั่งของprostaglandins โดยสามารถใช้ได้ทั้ง ฮอร์โมนคุมกำเนิดรูปแบบฮอร์โมนรวม (combined hormonal contraception) ทั้งรูปแบบรับประทาน การบริหารผ่านผิวหนัง เช่น แผ่นแปะ ห่วงฮอร์โมนทางช่องคลอด โดยมีรายงานประสิทธิผลในการลดอาการปวดท้องประจำเดือนสูงถึงร้อยละ 70-80

และฮอร์โมนคุมกำเนิดรูปแบบฮอร์โมนโปรเจสโตรเจนเพียงอย่างเดียว (Progesterone-only contraception) รูปแบบยาฝัง ยาฉีด ห่วงคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมน levonorgestrel (levonorgestrel intrauterine device; LNG-IUD) และรูปแบบรับประทาน จากรายงานการศึกษาสตรีที่ได้รับการรักษาโดยการใช้ยาฝังชนิด etonogestrel พบว่าสามารถลดอาการปวดประจำเดือนได้ถึงร้อยละ 85

2.การรักษาโดยการใช้ยากลุ่มที่ไม่ใช่ฮอร์โมน

2.1 ยากลุ่มต้านการอักเสบ (Nonsteriodal anti-inflammatory drug; NSAIDs) ซึ่งถือเป็นการรักษาแนวทางแรกๆที่แพทย์มักเลือกใช้ (first line treatment) ส่งผลลดทั้งการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก ลดสารการอักเสบ ซึ่งส่งผลลดอาการเจ็บปวดโดยตรง โดยสามารถเริ่มรับประทานยาตั้งแต่ก่อนมีประจำเดือน 1-2 วันก่อนและทานยาตามเวลา (scheduled dosing regimen) เนื่องจากมีประสิทธิผลในการระงับปวดที่ดีกว่าการรับประทานยาตามอาการ

การศึกษาพบว่า flurbiprofen ขนาด 100 mg ทุก 12 ชั่วโมงหรือขนาด 50 mg ทุก 8 ชั่วโมง และ tiaprofenic acid ขนาด 200 mg ทุก 4 ชั่วโมง เป็นตัวยาที่มีประสิทธิผลในการรักษาอาการปวดประจำเดือนดีที่สุด โดยมีผลข้างเคียง ได้แก่ อาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร น้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม mefenamic acid ขนาด 500 mg (loading dose) และตามด้วย ขนาด 250 mg ทุก 6 ชั่วโมง หรือ Ibuprofen ขนาด 800 mg (loading dose) และตามด้วย ขนาด 400-800 mg ทุก 8 ชั่วโมง ก็เป็นหนึ่งในยาที่ให้ผลการรักษาที่ดีและมีแพร่หลาย ราคาถูกในประเทศไทย

3.การรักษารูปแบบทางเลือกแบบไม่ใช้ยาหรือการรักษาทางเลือก มีการรักษาหลายรูปแบบที่ทดแทนการใช้ยา ที่มีหลักฐานการศึกษาว่ามีประโยชน์สามารถช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้บ้าง

3.1 การกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านผิวหนังด้วยคลื่นความถี่สูง กระแสไฟฟ้ามีส่วนในการเพิ่มการขยายตัวของหลอดเลือด (vasodilatation) ที่ไปเลี้ยงบริเวณกล้ามเนื้อมดลูก ส่งผลรูปแบบลดอาการปวดจากการขาดเลือดของกล้ามเนื้อมดลูก (uterine muscle hypoxia) โดยมีการศึกษาแบบวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) พบว่าการรักษาด้วยการกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านผิวหนังด้วยคลื่นความถี่สูง สามารถลดอาการปวดท้องประจำเดือนระดับรุนแรงได้ร้อยละ 30

3.2 การฝังเข็ม (Acupuncture) เป็นหนึ่งในการรักษาแพทย์ทางเลือกที่สามารถช่วยลดอาการเจ็บปวด ผ่านกลไกการปรับรับรู้ความเจ็บปวด (pain modulation) โดยมีกลไกลดอาการปวดประจำเดือน โดยการเพิ่มเลือดที่ไปเลี้ยงมดลูกผ่านการกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติที่รังไข่ (ovarian sympathetic nerve reflex) และการลดการหลั่งของ prostaglandins โดยจะมีจุดเฉพาในการฝังเข็มเพื่อลดอาการปวดประจำเดือนโดยเฉพาะที่บริเวณหน้าขา ได้แก่ จุด SP6 และจุด SP9 อย่างไรก็ตามผลการศึกษาผลของการฝังเข็มต่ออาการปวดท้องประจำเดือน ยังไม่มีข้อมูลที่เป็นการศึกษาแบบสุ่มที่มีการควบคุมที่เป็นระบบชัดเจน

3.3 การประคบร้อน (Continuous heat applied) การประคบร้อนที่บริเวณท้องน้อยในช่วงปวดประจำเดือนเป็นที่นิยมอย่างมากในวิถีการดำเนินชีวิตแบบชาวเอเชียรวมถึงคนไทย เป็นวิธีที่ปลอดภัย เข้าถึงได้ง่ายและราคาไม่แพง โดยมีหลักการของความร้อนเฉพาะที่จะช่วยเพิ่มเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณมดลูก ส่งผลลดการขาดเลือดของกล้ามเนื้อมดลูก และช่วยให้เกิดการระบายสาร prostaglandins ที่สะสมบริเวณมดลูก

3.4 การออกกำลังกายและโยคะ มีหลักการในการลดปวดหลายกลไก ได้แก่ การเพิ่มเลือดไปเลี้ยงที่มดลูก เพิ่มการหลั่ง endorphin ลดความเครียดและความกังวลและส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม การลดอาการปวดประจำเดือน ในกลุ่มที่ออกกำลังกายชนิดแอโรบิค หรือชนิดยืดเหยียด (stretching) หรือโยคะเป็นระยะเวลา 30-60 นาที อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์

3.5 อาหารเสริม (supplement)

· วิตามินอี(tocopherol)ช่วยลดความรุนแรงของอาการปวดประจำเดือนได้ โดยวิตามินอี (Vitamin E) ขนาด 200-400 IU ต่อวัน

· สารสกัดจากขิง (Ginger) โดยสารที่ออกฤทธิ์ลดการอักเสบและลดอาการปวด ได้แก่ gingerol and gingerdione การรับประทาน ginger ขนาด 1000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งเป็นเม็ดแคปซูลขนาด 250 มิลลิกรัม 4 ครั้ง/วัน ในช่วง 3 วันแรกหลังมีประจำเดือน มีผลช่วยลดอาการปวดประจำเดือนดี

 

อาการปวดท้องประจำเดือนถือว่าเป็นหนึ่งปัญหาที่พบได้บ่อยในสตรี โดยเฉพาะสตรีวัยรุ่นที่เริ่มมีประจำเดือนในช่วง 2 ปีแรก การเริ่มต้นการรักษาด้วยยาที่แนะนำเป็นอันดับแรก (first line and empirical treatment) ได้แก่ ยากลุ่มต้านการอักเสบ เป็นสิ่งที่แพทย์ทุกท่านสามารถเริ่มต้นการรักษาได้ โดยต้องอาศัยการตรวจติดตามต่อเนื่องเพื่อประเมินผลการรักษาและอาการข้างเคียง หากอาการปวดท้องประจำเดือนนั้นบรรเทาได้จากการรับประทานยาต้านการอักเสบ สามารถอนุมานได้ว่าการปวดประจำเดือนนั้นเป็นแบบปฐมภูมิหรือไม่มีสาเหตุร้ายแรงซ่อนอยู่ โดยอาการดีขึ้นตามลำดับเมื่อเวลาผ่านไป แต่หากสตรีไม่ตอบสนองต่อการรักษา แพทย์ควรมองหาสาเหตุที่ซ่อนอยู่ ได้แก่ ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยและสามารถพบได้ตั้งแต่ในช่วงวัยรุ่น



บทความจาก อ.พญ. อรวิน วัลลิภากร อาจารย์สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์การเจริญพันธ์ ประจำภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยาคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ co-founder อันดาวินคลินิก #ปวดท้องประจำเดือน #ประจำเดือนขาด #ปวดท้องเมนส์ #ไข่ไม่ตก #ดื้ออินซูลิน #PCOS #เมนส์มาไม่ปกติ #ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ #andawinclinic #อรวินวัลลิภากร #ประจำเดือนผิดปกติ #PCOSมีลูกได้ไหม#สิวฮอร์โมน

 


รีวิว

ติดต่อเรา

อันดาวินคลินิก

โครงการเวนิส ดิไอริส วัชรพล Entrance 1

เบอร์โทร

091 759 4488

ที่อยู่

1/252 ถ.วัชรพล ท่าแร้ง บางเขน Bangkok, Thailand 10220

เวลาทำการ

ทุกวัน 10:00 - 18:00 น. หยุดวันจันทร์